สิทธิของผู้ถือหุ้น
8 หลักการที่ สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น
คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่ในการดูแลให้มั่นใจว่าผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสําคัญของบริษัท เคารพสิทธิและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รายย่อย และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส กํากับดูแลให้มีกระบวนการและช่องทางในการรับ และจัดการกับข้อร้องเรียนของผู้ประสงค์จะแจ้งเบาะแสหรือผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิผล และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายสามารถติดต่อหรือร้องเรียนในเรื่องที่อาจเป็นปัญหากับคณะกรรมการโดยตรงได้
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายในการสนับสนุน ส่งเสริม และอํานวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นทุกราย ทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ถือหุ้นประเภทสถาบัน ได้ใช้สิทธิต่าง ๆ ทั้งในฐานะนักลงทุนในหลักทรัพย์และในฐานะเจ้าของบริษัท ด้วยวิธีการและมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้โดยให้สิทธิในการซื้อ ขาย โอน หลักทรัพย์ที่ตนถืออยู่อย่างเป็นอิสระ การได้รับส่วนแบ่งผลกําไรจากบริษัท การเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น การเสนอวาระการประชุมล่วงหน้า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัท การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมอย่างเป็นอิสระ และการร่วมตัดสินใจในเรื่องสําคัญของบริษัท เช่น การเลือกตั้งกรรมการ การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและการกําหนดค่าสอบบัญชี การแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท และการอนุมัติธุรกรรมที่สําคัญและมีผลต่อทิศทางในการดําเนินธุรกิจของบริษัท
นอกจากสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ข้างต้นแล้วบริษัทยังได้ดําเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นการส่งเสริมและอํานวยความสะดวกในการใช้สิทธิ ของผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม ดังนี้
ให้ข้อมูลที่สําคัญและจําเป็นสําหรับผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดําเนินธุรกิจอย่างชัดเจนและทันต่อเหตุการณ์ โดยเปิดเผยข้อมูลนั้น ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท และผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับข้อมูลที่ชัดเจน เพียงพอ และมีเวลาศึกษาข้อมูลล่วงหน้าก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้เผยแพร่ ข้อมูลเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ และกําหนดวาระการประชุมผู้ถือหุ้นไว้เป็นเรื่อง ๆ อย่างชัดเจน โดยเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษล่วงหน้า 30 วัน ก่อนวันประชุม สําหรับหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้จัดให้มีรายละเอียดข้อมูลของแต่ละวาระ พร้อมคําชี้แจงเหตุผลประกอบ และ ความเห็นของคณะกรรมการ โดยบริษัทได้เผยแพร่หนังสือนัดประชุมพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น แบบการลงทะเบียน เอกสาร และหลักฐานที่ผู้เข้าร่วมประชุมต้องแสดงก่อนเข้าร่วมการประชุม วิธีการมอบฉันทะ การลงทะเบียน และหนังสือมอบฉันทะ บนเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น 30 วัน และจัดส่งเอกสารดังกล่าว ข้างต้นให้ผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 21 วัน
บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือบุคคลใด ๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้โดยใช้หนังสือมอบฉันทะแบบหนึ่งแบบใดที่บริษัทได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกําหนดทิศทางการออกเสียงลงคะแนนได้ตามแบบที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์กําหนด พร้อมข้อมูลของกรรมการอิสระที่บริษัทกําหนดให้เป็นผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้น สําหรับผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนสถาบันหรือผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้ลงทุนต่างประเทศและแต่งตั้งให้เป็นคัสโตเดียน (Custodian) ในประเทศไทยเป็นผู้รับฝากและดูแลหุ้น บริษัทได้ประสานงานเรื่องเอกสารและหลักฐานที่จะต้องแสดงก่อนเข้าร่วมประชุมเป็นการล่วงหน้า เพื่อให้การลงทะเบียนในวันประชุมเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคําถามเพื่อสอบถามข้อมูลในแต่ละวาระหรือข้อมูลอื่นๆ ของบริษัทเป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุม ผู้ถือหุ้น ผ่านอีเมล comsec@snnp.co.th หรือตามที่อยู่ของบริษัท โดยหากผู้ถือหุ้นต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อโดยตรงที่สํานักงานเลขานุการบริษัทผ่านช่องทางนี้
ที่อยู่: ฝ่ายเลขานุการบริษัท บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จํากัด (มหาชน)
เลขที่ 325/6-9 ถนนหลานหลวง แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์: 0 2628 0408
อีเมล: comsec@snnp.co.th
ดําเนินการจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในรูปแบบการประชุมระบบไฮบริด เพื่อเปิดโอกาสให้ท่านผู้ถือหุ้นสามารถเลือกรูปแบบ การเข้าร่วมประชุมได้ ทั้งรูปแบบการเข้าร่วมประชุม ณ สถานที่จัดประชุม หรือ Physical Meeting ณ ราชดําเนินฮอลล์ ชั้น 1 โรงแรมรอยัล ปริ้นเซส หลานหลวง เลขที่ 269 ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-AGM ซึ่งบริษัทได้ว่าจ้างบริษัท โอเจ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด เป็นผู้บริการระบบควบคุมการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามพระราชกําหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยระบบดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบในเรื่องมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สําหรับช่วยอํานวยความสะดวกผู้ถือหุ้นตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียน (E-Register) การมอบฉันทะ การเข้าร่วมการประชุม การซักถามในที่ประชุมผ่านช่องทางภาพและเสียง (Video Conference) การออกเสียงลงคะแนน (e-Voting) และการนับคะแนนเสียง โดยบริษัทได้จัดทําขั้นตอนการยื่นแบบคําร้องขอเข้าร่วมการประชุม และการใช้งานระบบประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาก่อนการประชุมซึ่งได้จัดส่งให้ทราบพร้อมหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น
รายละเอียดผลการนับคะแนนของแต่ละวาระ บริษัทได้รวบรวมผลและแจ้งให้ที่ประชุมได้ทราบภายหลังจากเสร็จสิ้นการลงคะแนน ในแต่ละวาระ หรือหากบางวาระต้องใช้เวลาในการนับคะแนนมากกว่าปกติ ประธานในที่ประชุมอาจขอให้ที่ประชุมดําเนินการพิจารณาในวาระอื่นไปก่อนเพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจนับคะแนนแล้วเสร็จก็จะแจ้งให้ที่ประชุมทราบรายละเอียดผลการนับคะแนนทันที
บริษัทให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมภายหลังจากประธานที่ประชุมเปิดการประชุมไปแล้ว สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ในวาระที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้มีการลงมติ และนับเป็นองค์ประชุมตั้งแต่วาระที่ได้เข้าร่วมประชุมเป็นต้นไป จึงอาจทําให้มี ผู้ออกเสียงลงคะแนนในแต่ละวาระไม่เท่ากันได้
ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2566 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ตามลําดับในระเบียบวาระที่ได้กําหนดไว้ในหนังสือนัดประชุม ที่ได้ส่งให้ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงลําดับวาระดังกล่าว และไม่มีการขอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องอื่นนอกเหนือไปจากที่กําหนดไว้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น