มิติด้านสิ่งแวดล้อม
บริษัทมีความมุ่งมั่นในการดําเนินธุรกิจให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง สอดคล้องและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน
นโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อม
- ปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานอย่างยั่งยืน คุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รวมทั้งป้องกันและควบคุมมลพิษที่แหล่งกําเนิด
- ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกําหนดต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งสร้างความตระหนักในการร่วมกันรักษา สิ่งแวดล้อม เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งภายในและภายนอกองค์กร
- ปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการกําหนด ติดตาม และบรรลุผลสําเร็จตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนงานการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร
การใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทตระหนักถึงความสําคัญของการใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมุ่งเน้นให้มีแนวทางปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานแก่พนักงานภายในองค์กร เพื่อทําให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการดําเนินการอนุรักษ์พลังงาน และปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งมุ่งไปสู่เป้าหมายการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท และการประหยัดพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีรายละเอียดแสดงดังต่อไปนี้
- การอนุรักษ์พลังงานถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดําเนินงานขององค์กร และผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสําคัญในการปฏิบัติการจัดการพลังงาน
- บริษัทสนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน โดยการปฏิบัติตามแนวทางการจัดการพลังงาน เพื่อมุ่งเน้นการลดการใช้พลังงาน และต้นทุนการผลิต
- บริษัทกําหนดให้มีการนําเสนอแผนการอนุรักษ์พลังงานจากแผนกงานต่าง ๆ เพื่อร่วมพิจารณาตั้งเป็นเป้าหมายดัชนีการใช้พลังงานของบริษัท โดยมีการทบทวนเป้าหมายตามการใช้ พลังงานที่เหมาะสม
- มุ่งเน้นปฏิบัติตามแนวทางการจัดการพลังงานของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2550) เพื่อให้มีการอนุรักษ์พลังงานภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
- กําหนดให้มีการทบทวนนโยบายการจัดการพลังงาน เป้าหมายลดการใช้พลังงาน และแผนปฏิบัติงานการอนุรักษ์พลังงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ส่งเสริมให้มีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจแก่พนักงานภายในองค์กร เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและแนวทางปฏิบัติ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
- ทําการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานขององค์กร เพื่อมุ่งไปสู่การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า
เป้าหมายและผลการลดการซื้อพลังงานไฟฟ้า
บริษัทมีตั้งเป้าหมายการลดการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าลงร้อยละ 0.05 ทุกปีเมื่อเทียบกับยอดขาย (Electricity Use/Sales)
ผลการลดการซื้อไฟฟ้า 2566
ปี | 2565 | 2566 |
---|---|---|
ค่าไฟจากการไฟฟ้า (ล้านบาท) | 89.89 | 94.19 |
ยอดขาย (ล้านบาท) | 5,556.10 | 6,015.90 |
% to sales | 1.618% | 1.566% |
ลดได้ | -0.052% |
เปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้า
เปรียบเทียบการใช้ไฟฟ้า | 2565 | 2566 | % Change |
---|---|---|---|
พลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ฯ | 22,610,720 | 21,035,716 | -6.97% |
พลังงานจากแสงอาทิตย์ | 2,456,961 | 2,980,141 | 21% |
การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทตระหนักถึงความสําคัญของน้ำในทุกมิติ โดยมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างถูกสุขอนามัย ภายใต้แนวคิดที่ว่า “หากไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนอาจจะเกิดความเสี่ยงจากวิกฤตการณ์ ขาดแคลนน้ำต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมถึงการดําเนินธุรกิจของบริษัท”
บริษัทได้กําหนดหลักปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า โดยมีสาระสําคัญดังนี้
- กําหนดให้น้ำเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักที่สําคัญทางธุรกิจ
- บูรณาการความร่วมมือกันทั้งในบริษัทและบริษัทย่อย ในด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมโครงการประหยัดน้ำและมุ่งเน้นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการนําน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้
- ปฏิบัติตามข้อกําหนดและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เช่น การดึงน้ำมาใช้ และการระบายน้ำทิ้ง
- ดําเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 5 ด้านการจัดการน้ำ และสุขาภิบาล (Clean water and sanitation)
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยให้ความรู้รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและ การอนุรักษ์นํ้า
ปริมาณการใช้น้ำที่บำบัดแล้ว
ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ษ. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | รวม | เฉลี่ย | |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
2565 | - | - | - | - | - | - | - | - | - | - | - | 11 | 11 | 11 |
2566 | 21 | 28 | 25 | 27 | 24 | 25 | 26 | 24 | 20 | 15 | 20 | 19 | 274 | 22.83 |
การกําจัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการธุรกิจ
บริษัทมีนโยบายในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยลดปริมาณการสูญเสียจากกระบวนการผลิตที่ต้องทิ้ง ร่วมกับลดปริมาณการใช้ บรรจุภัณฑ์ทั้งที่เป็นกระดาษ พลาสติกที่เกินความจําเป็น และ/หรือใช้ครั้งเดียว เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนําไปสู่การฝังกลบ โดยการเสาะแสวงหาแนวทางในการนําขยะมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการนําขยะมาหมุนเวียนเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับของเสีย ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
มีการดําเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต ดังนี้
1. โครงการลดปริมาณของเสียน้ำมะพร้าวค้างท่อส่ง
ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมะพร้าว มีระบบการลําเลียงน้ำมะพร้าวโดยใช้ปั๊มส่งผ่านท่อ แต่เนื่องจากระยะท่อส่งที่ค่อนข้างยาว จึงมีน้ำมะพร้าวส่วนหนึ่งที่เป็นของเสียเนื่องจากติดค้างอยู่ภายในท่อส่ง ทางฝ่ายผลิตจึงมีแนวคิดในการลดของเสียด้วยการทําระบบไล่ ท่อส่งด้วยลูกยาง Spong และใช้ลมดันไล่ลูกยางไปตามท่อส่ง ส่งผลให้ไม่มีของเสียน้ำมะพร้าวที่ติดค้างท่อส่ง สามารถลดปริมาณ ของเสียน้ำมะพร้าวค้างท่อส่งลงได้ 170 Kg/วัน (4,420 Kg/เดือน)
2. โครงการลดการใช้พลาสติกในขั้นตอนกระบวนการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์บรรจุขวด
ในขั้นตอนกระบวนการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์บรรจุขวด มีขั้นตอนกระบวนการนําเอาฟิล์ม PE มาใช้ในการห่อหุ้มแพ็กผลิตภัณฑ์ จึงได้ มีแนวคิดในการลดปริมาณการใช้พลาสติกลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยทําการทดลองลดขนาดความกว้างของฟิล์มพลาสติก PE จากเดิม ขนาดหน้ากว้าง 250 มิลลิเมตร ให้มีขนาดความกว้างลดลงเหลือขนาด 240 มิลลิเมตร (ลดลง 10 มิลลิเมตร) หรือส่วนต่างน้ำหนักฟิล์ม PE ที่ลดลง 0.001 Kg/แพ็ก โดยขนาดฟิล์มพลาสติก PE ที่ลดลงจะยังคงสามารถห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ได้ตามปกติ
3. โครงการเปลี่ยน Packing size สารเคมี
เพื่อเป็นการลดปริมาณการกําจัดกากอุตสาหกรรมถังบรรจุสารเคมีสําหรับการทําความสะอาดไลน์ผลิต ซึ่งถือเป็นขยะอันตราย จึงมี แนวคิดในการเปลี่ยน Packing size ของสารเคมี จากการใช้ถังขนาด 25 กิโลกรัม มาเป็นถัง 200 ลิตร สามารลดการใช้ถังขนาด 25 กิโลกรัม ที่จํานวน 57 ถัง เหลือใช้ถัง 200 ลิตร เพียง 7 ถัง
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บริษัทพิจารณาและบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) โดยตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดําเนินธุรกิจต่อหน่วยการผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน เช่น เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการรายย่อย คู่ค้า ผู้จัดหาผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท ในการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพ ภูมิอากาศ ส่งเสริมการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนดําเนินกิจกรรมเพื่อลด การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสนับสนุนโครงการการรับมือกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
บริษัทได้คํานวณและได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร หรือ Carbon Footprint for Organization: CFO กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สําหรับรอบระยะเวลา 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ดังต่อไปนี้
Scope 1 | Scope 2 | Scope 3 | Scope 1+2 |
---|---|---|---|
23,154 | 11,514 | 64,119 | 34,668 |
การจัดการวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ
บริษัทให้ความสําคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาวัตถุดิบที่ใช้ การสรรหาและพัฒนาคู่ค้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยบริษัทมุ่งมั่นในการผลักดันให้คู่ค้าหลักได้ปฏิบัติตาม และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวปฏิบัติของบริษัท ในการดําเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชน มีการดูแลอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของลูกจ้าง รวมถึงการให้ความสําคัญต่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยบริษัทมีการจัดทํา “แนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า SNNP” หรือ “SNNP Supplier Sustainable Code of Conduct ซึ่งมีสาระสําคัญ ดังนี้
- วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายการดําาเนินธุรกิจ
- จริยธรรมทางธุรกิจ
- ความรับผิดชอบต่อความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
- แรงงานและหลักสิทธิมนุษยชนสากล
- ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม
- การร้องเรียน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รายงานความยั่งยืน
รายงานล่าสุดของเราเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างยั่งยืน โดยเน้นถึงความสำเร็จและเป้าหมายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม